เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูกันดี เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เยอะ ไม่เว้นแม้แต่คนรอบข้างเราหลาย ๆ คน ซึ่งโรคนี้ถือเป็นโรคร้ายแรงนิดหนึ่ง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี วันนี้เรามาทำความรู้จักโรคเบาหวาน กันให้มากขึ้นดีกว่า
โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการสร้างฮอร์โมนที่มีชื่อว่า อินซูลิน(Insulin) ซึ่งทำหน้าที่ในการนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้งาน เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ หรือการที่อินซูลินดลงเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ในกระแสเลือดมีน้ำตาลมากกว่าปกติ
ให้เราลองนึกภาพว่า หากเรารับประทานอาหารประเภทข้าว แป้ง และน้ำตาลเข้าไปแล้ว ร่างกายจะมีการย่อยและดูดซึม ที่ทางเดินอาหารในรูปน้ำตาลกลูโคส(Glucose) เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ต่อมาฮอร์โมนอินซูลิน ที่มาจากตับอ่อน จะทำการดึงน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เพื่อไปใช้เป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย จากนั้นน้ำตาลที่อยู่ในเลือดช่วงแรกจึงลดลงสู่ระดับปกติ เนื่องจากน้ำตาลถูกนำไปใช้งานแล้วนั่นเอง
แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายมีไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย น้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดจะไม่ถูกนำไปใช้ หรือถูกนำไปใช้ในปริมาณที่น้อย ทำให้ในกระแสเลือดมีระดับน้ำตาลที่สูง
โดยการที่ร่างกายขาด อินซูลินมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก
- ภาวะที่ตับอ่อนไม่สารถผลิตอินซูลินได้ หรือผลิตได้แต่ไม่มากพอ
- เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน
สาเหตุของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานนั้นมีสาเหตุหลัก ๆ คือการที่ร่างกายขาด ฮอร์โมนอินซูลิน(Insulin) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้ดังนี้
1. เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นภาวะที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินขึ้นมาได้เลย พบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยเบาหวานชนิดนี้ แพทย์ต้องทำการรักษาโดยการฉีดอินซูลิน เข้าไปในร่างกาย
2. เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะที่ตับอ่อนยังผลิตอินซูลินได้อยู่บ้าง แต่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน พบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ประมาณ 95% ของผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทย
3. เบาหวานชนิดอื่นที่มีสาเหตุเฉพาะ เกิดจากโรคตับอ่อน ความผิดปกติทางพันธุกรรมโดยกำเนิด ความผิดปกติของฮอร์โมนในการผลิตอินซูลิน หรือการได้รับยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ หรือพวกสารเคมี เป็นต้น
4. เบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นขณะที่ตั้งครรภ์ และหลังคลอดบุตรมักจะพบว่าโรคเบาหวานหายไป แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคเบาหวานขึ้นอีกในอนาคต จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเฝ้าดูอาการเป็นระยะ
โรคเบาหวาน มีอาการอย่างไร
สำหรับอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) ตามสถิติทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย
- คอแห้ง หิวน้ำบ่อย
- หิวบ่อย น้ำหนักเพิ่มหรือลด จนผิดปกติ
- บาดแผลหายยาก กว่าปกติ
- สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
- มีอาการชา บริเวณปลายมือและปลายเท้า
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ซึ่งอาการของโรคเบาหวานแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป โดยเบาหวานชนิดที่ 1 มักจะแสดงอาการแบบรวดเร็วและรุนแรง แต่เบาหวานชนิดที่ 2 นั้น จะแสดงอาการที่ละนิด หรือแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์นั้น มักตรวจพบเมื่อมีอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย
นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ร้ายแรงตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ , หลอดเลือดในสมองอุดตัน , จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น ซึ่งคนทั่วไปส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและแนวทางการป้องกันอย่างถูกต้อง
หากตรวจพบเบาหวาน ควรทำอย่างไร
การตรวจเบาหวานนั้น จะตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หากพบว่าสูงกว่า 126 มก./ดล. จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัว หลังพบว่าตัวเองเป็นเบาหวานแล้ว มีดังนี้
- ควบคุมหาร โดยเฉพาะจำพวกข้าว แป้ง และน้ำตาล ควรรับประทานในปริมาณที่น้อย
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4-5 วัน
- ไม่เครียดจนเกินไป และพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- กลับไปพบแพทย์ ตามนัดหมาย เพื่อรับแนวทางการรักษาโรคเบาหวานอย่างถูกวิธี
ทั้งนี้หากผู้ป่วยปฏิบัติตามทุกข้อ (และในผู้ป่วยเบาหวานบางเคสต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินร่วมด้วย) และกลับไปตรวจเบาหวานอีกครั้ง หากน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่า 100 มก./ดล. จะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าโรคเบาหวานจะหายขาด เพราะน้ำตาลในเลือดมีโอกาสกลับมาสูงอีกได้ทุกเมื่อ เราจึงต้องมีวินัยในการใช้ชีวิต ที่สำคัญคือกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย และพบแพทย์เป็นประจำ
นอกจากนี้หากพบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะมีอากาสสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาอีกมาหมาย อ่านวิธีการรักษาโรคเบาหวาน <<ที่นี่
สรุป
โรคเบาหวานนั้น ถือเป็นโรคที่รุนแรง และพบได้บ่อยโดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่อ้วน เป็นต้น โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า สถิติผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยที่ได้มีการสำรวจปี 2562 มีจำนวนมากถึง 4.8 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
เพราะฉะนั้นเราจึงควรตระหนัก และควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสียงที่เป็นโรคเบาหวาน เช่น การออกกำลังกาย งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง
https://www.cdc.gov/diabetes/basics/diabetes.html
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444