สำหรับโรคเบาหวานนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดหลัก ๆ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ความรุนแรงมากน้อยไม่เท่ากัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถพบได้มากที่สุด โดยพบมากถึง 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เยอะว่าชนิดอื่นมากจนน่าตกใจ และบทความนี้จะพามาทำความรู้จักเบาหวานชนิดนี้ให้มากขึ้นกันครับ
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คืออะไร
เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes , noinsulin dependent) เกิดจากการที่เบต้าเซลล์(Beta-Cell) ของตับอ่อนผลิตอินซูลิน(Insulin) ได้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดอินซูลิน ในการนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้แก่เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีสูงขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีอาการดื้อต่ออินซูนลินร่วมด้วย
สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
หรับสาเหตุของเบาหวานชนิดนี้ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- มาจากกรรมพันธุ์ พบประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นเบาหวานมาก่อน อาจส่งผลให้บุลคลนั้นเป็นเบาหวานได้ด้วย
- มาจากพฤติกรรมการกิน ที่ไม่ถูกต้อง เช่นทานแป้ง หรือน้ำตาลมากเกินไป
- อ้วนลงพุง หรือน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ปกติ
- ไม่ออกกำลังกายเท่าที่ควร
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ อาจส่งผลกระตุ้นให้เกิดโรคได้
- อายุที่มากขึ้น ก็เพิ่มโอกาสเป็นโรคได้ โดยเฉพาะหลัง 45 ปี ขึ้นไป
อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดนี้มักไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น หรือเรียกว่า แสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากเบาหวานชนิดที่ 1 ที่แสดงอาการรุนแรงและรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน จะทราบก็ต่อเมื่อมีเหตุให้ต้องตรวจร่างกาย หรือเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น
หรือหากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ก็อาจจะเป็นสัญญาณของโรคได้ คือ
- ปัสสาวะบ่อย จนผิดปกติ
- หิวน้ำบ่อย รู้สึกคอแห้ง
- การมองเห็นไม่ชัดเจน ภาพเบลอ ๆ มัว ๆ
- รู้สึกว่าร่างกายไม่มีแรง หรืออ่อนเพลียจนผิดปกติ
- มีอาการชาที่มือ และเท้า
- บาดแผลหายยาก
- สมรรถภาพทางเพศลดลง โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า 20-75% ของผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวาน มักจะมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) ร่วมด้วย
การตรวจเบาหวาน
หากสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่ เนื่องจากเป็นชนิดที่ไม่ค่อยแสดงอาการ ให้เข้ารับการตรวจได้เลย โดยจะมีวิธีการดังนี้
1.การวัดระดับกลูโคสในพลาสมา
วิธีการนี้ คือการเจาะหาน้ำตาลในเลือด โดยแพทย์จะให้งดอาหารก่อน 8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือด
- หากระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 mg/dL จะถือว่าอยู่ในระดับปกติ
- หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับ 100-125 mg/dL ถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน แต่ยังไม่จัดว่าเป็นโรคเบาหวาน
- หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 mg/dL จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
2.การวัดความทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test : OGTT)
ในกรณีที่ตรวจวัดระดับกลูโคสในพลาสมาแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ถึง 126 mg/dL แต่แพทย์ยังสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เข้าไปในทันที เพื่อต้องการทราบว่าเมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลเข้าไปแบบรวดเร็วแล้ว ร่างกายจะจนทานต่อน้ำตาลได้แค่ไหน ซึ่งหลังทาน 2 ชั่วโมงหากตรวจวัดระดับน้ำตาลอีก โดยจะมีเกณฑ์ดังนี้
- หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 mg/dL ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
- หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 140-199 mg/dL ถือว่าความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง
- หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 mg/dL ถือว่าปกติ
การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ ร่างกายยังสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้อยู่ เพียงแต่ได้ในปริมาณน้อย ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ทำให้อินซูลินไม่เพียงพอใช้งาน การรักษาจึงมีทั้ง 2 แบบได้แก่
1.ให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ทำให้อินซูลินที่ร่างกายยังผลิตได้อยู่ ทำงานได้อย่างสมดุล รวมถึงลดอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และพฤติกรรมทำลายสุขภาพต่าง ๆ เพื่อลดภาวะการดื้อต่ออินซูลิน
2.ฉีดอินซูลินเพิ่มเข้าไปในร่างกาย ในบางกรณี
ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ในการรักษาแต่ละบุคคล
สรุป
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น มีผู้ป่วยเป็นโรคมากที่สุดในบรรดาเบาหวานชนิดต่าง ๆ และมักจะไม่แสดงอาการออกมา ทำให้ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว จึงไม่ได้รับการรักษาและทิ้งระยะเวลาไว้นาน ทำให้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้สูง เช่น โรคหัวใจ , โรคความดันโลหิตสูง , โรคไต เป็นต้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นบุคคลที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีอาการแสดงออกข้างต้นที่กล่าวมา ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างถูกต้อง
แหล่งอ้างอิง
https://www.diabetes.org/diabetes/type-2
https://www.diabetesaustralia.com.au/type-2-diabetes